ปลาสิงโตสีแดง หรือ Red lion fish เป็นปลามีพิษอยู่ตรงก้านแข็งของครีบ ถ้าโดนต่อยเข้าจะปวดมากๆ แต่ไม่ทำให้ถึงตาย ซึ่งปลาชนิดนี้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลรายงานว่า แพร่พันธุ์แถบทะเลแคริบเบียนมากจนน่าตกใจ พวกมันกินปลาเล็กๆ หลากหลายพันธุ์จนอาจทำลายระบบนิเวศ และยังอาจทำลายอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นักวิชาการเชื่อว่า ปลาสิงโตสีแดงเริ่มแพร่พันธุ์ในทะเลแคริบเบียนตั้งแต่พ.ศ.2535 เมื่อเฮอริเคนแอนดรูว์สร้างความเสียหายในรัฐฟลอริดา ทำให้ปลาสิงโตสีแดงในอะควาเรียมเอกชน หลุดรอดลงไปในอ่าวบิส เคย์นของไมอามี่ โดยปลานั้นวางไข่ที่กระแสน้ำในอ่าว ไปจนถึงชายฝั่งทะเลด้านเหนือ ทำให้พวกมันแพร่พันธุ์ตั้งแต่เบอร์มิวดาจนถึงรัฐนอร์ทแคโรไลนา
นายมาร์ก ฮิกซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน กล่าวว่า "ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที ปลาสิงโตสีแดงกินลูกปลาถึง 20 กว่าตัว มันเป็นผู้บุกรุกทางทะเลที่ร้ายกาจ และอาจไม่มีทางหยุดยั้งมันได้เลย"
จากการสำรวจพบว่า ปลาสิงโตสีแดงรวมตัวกันมากแถบบาฮามาส ทั้งบริเวณท่าเรือ ชายหาด ปะการังน้ำตื้น ปะการังน้ำลึก โดยเฉพาะตามป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่ของลูกปลา
ส่วนบริเวณนิวโพรวิเดนซ์และหมู่เกาะเบอรี่พบปลาสิงโตสีแดงเพิ่มถึง 10 เท่า ภายในเวลาแค่ 1 ปี ขณะที่หมู่เกาะทางตอนเหนือของทะเลแคริบเบียนเริ่มตระหนักถึงอันตราย จึงขอให้ชาวประมงช่วยจับปลา ไม่อย่างนั้นอาจเกิดหายนะต่ออุตสาหกรรมประมง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ไปว่ายน้ำ ดำน้ำอาจได้รับอันตราย
นายยูเจนิโอ พีเนโร-โซเลอร์ เจ้าหน้าที่สมาคมประมงแคริบเบียน มีความเห็นว่า "การรุกรานของปลาสิงโตสีแดงกระทบต่อปลาที่อยู่ตามปะการังมากที่สุด อาจทำให้ปลาเหล่านั้นถึงกับหมดไปได้"
ส่วนหนทางกำจัดนั้นมีทั้งการทดลองโดยให้ปลาฉลาม ปลาไหลมอเรย์ หรือแม้แต่ทำอาหารให้คนกิน ผู้ที่ชอบเปิบอาหารแปลกๆ เห็นว่ารสชาติของปลาสิงโตอร่อยเหมือนกับปลาฮาลิบัต แต่ก็ยังไม่มีผู้นิยมรับประทาน แม้แต่ปลาฉลามเมื่อเห็นว่าอาหารของมันเป็นปลาสิงโต มันยังว่ายน้ำหนี ปลาไหลมอเรย์ก็ไม่ยอมกิน ส่วนปลาชนิดเดียวที่ยอมกินคือปลากรุ๊ปเปอร์ ซึ่งเป็นปลาที่หายากในบริเวณนี้
ที่มา นสพ.ข่าวสด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น