เมนบอร์ด
เมนบอร์ด มีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้ คือ ซีพียู ชิปเซ็ต ไบออส แรม รอม RTC (Real Time Clock) แบตเตอรี สล๊อตสำหรับเสียบการ์ดต่าง ๆ ความเสียหายที่เกิดกับเมนบอร์ดเป็นเรื่องที่แก้ไขค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่ แต่ปัญหาหนึ่งที่สามารถป้องกันได้ คือ ในเมนบอร์ดที่ใช้แบตเตอรีแบบที่รีชาร์จได้จะพบปัญหาน้ำกรดในแบตเตอรีรั่วซึมมากัดลายพรินต์บนเมนบอร์ด ทำให้เมนบอร์ดเสียหายจนถึงขั้นใช้งานไม่ได้ ปัญหานี้มักเกิดกับเครื่องที่มีอายุการใช้งานมามากกว่า 2 ปี หรือเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ทำให้แบตเตอรีเสื่อมคุณภาพ เกิดการรั่วซึมของกรด วิธีป้องกันทำได้ง่าย ๆ โดยการซื้อแบตเตอรี่มาเปลี่ยนใหม่ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนต้องอาศัยฝีมือในการเชื่อม ซึ่งคิดว่าคงไม่เกินความสามารถถ้ายากจะทดลองทำเอง
แรมและการ์ดวีจีเอ
ในกรณีที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ปรากฏว่าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ตอบสนองจากเครื่องเลย นั้นแสดงว่าอาการอยู่ในขั้นโคม่า เรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นแค่มือสมัครเล่นคงช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเสียงตุ๊ด ตู๊ดจากลำโพง แสดงว่าความหวังยังมีอยู่ สิ่งแรกที่ควรทำการตรวจสอบคือแรม ลงหาแรมจากเครื่องที่อยู่ในสภาพดีมาเปลี่ยนดู สุดท้ายถ้ายังไม่ได้ผลก็ทดลองดึงการ์ดอินพุท-เอาพุทออก อาการดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่เกิดจากแรม การ์ดวีจีเอ การ์ดอินพุท-เอาพุท แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็คงต้องส่งโรงหมอ
การ์ดวีจีเอและการ์ดข้างเคียงอื่น
การ์ดต่าง ๆ ที่เสียบอยู่ในสล็อตบนเมนบอร์ดนาน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการเดินของสัญญาณต่าง ๆ เนื่องจากที่ขาของการ์ดเหล่านี้อาจมีฝุ่นหรือออกไซด์ของโลหะ ที่ขัดขวางการเดินของสัญญาณ วิธีแก้ไขหายางลบดินสอมาสัก 1 แท่ง ถอดการ์ดต่าง ๆ ออก ใช้ยางลบขัดที่ขาของการ์ดเหล่านี้ ถ้าการวิเคราะห์ปัญหาของท่านถูกต้อง อาการต่าง ๆ ที่เคยรบกวนใจท่านอาจจะหายเป็นปลิดทิ้ง
ฟลอปปี้ดิสค์ไดร์ฟ
วันดีคืนดีฟลอปปี้ดิสค์ไดร์ฟของท่านที่เคยใช้อยู่ทุกวัน ก็เลิกทำงาน สาเหตุที่พบส่วนใหญ่เกิดจากหัวอ่านสกปรก เท่าที่พบปรากฎว่าอาการเสียจะเกิดเมื่อท่านนำแผ่นดิสค์ที่เก็บไว้นานแสนนานมาใช้ เมื่อส่งถึงมือช่างท่านก็จะบอกช่างว่าแผ่นดิสค์แผ่นนี้นาน ๆ จะใช้สักครั้งไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เครื่องเสียได้เลย แต่จริง ๆ แล้วแผ่นเหล่านี้คือต้นเหตุ แผ่นที่เก็บไว้นาน ๆ จะมีโอกาสเก็บความชื้นจากอากาศได้มาก เพราะภายในแผ่นจะมีกระดาษที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดแผ่น ซึ่งสามารถเก็บความชื้นได้ดี ความชื้นสามารถทำให้พื้นผิวของแผ่นดิสค์ขึ้นสนิม เมื่อท่านใส่แผ่นพวกนี้เข้าไปในฟลอปปี้ดิสค์ จะมีเสียงคล้าย ๆ คำบอกลา หลังจากนั้นจะแสดงข้อความบอกความผิดพลาด อาการเช่นนี้ท่านใช้แค่แผ่นล้างกับน้ำยาแทบจะช่วยอะไรไม่ได้ ทางที่ดีท่านควรเปิดฝาเครื่องรื้อเอาฟลอปปี้ดิสค์ออกมา พร้อมทั้งหาทางเปิดฝาครอบด้านบนออก ใช้แผ่นล้างกับน้ำยา ในขณะที่ฟลอปปี้ดิสค์ทำงาน ให้ท่านกดที่หัวอ่าน-เขียน แล้วปล่อยสลับไปมาหลาย ๆ ครั้ง จนกว่าจะสะอาด
ในกรณีที่ท่านทำความสะอาดหัวอ่านจนน้ำยาหมดไปแล้ว 1 ขวด แต่อาการต่าง ๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ให้ท่านลองทำความสะอาดที่แกนซึ่งมีลักษณะเป็นเกลียวของสเตปปิงมอเตอร์ที่ใช้ควบคุมการเลื่อนของหัวอ่าน-เขียน โดยใช้สเปร์ยทำความสะอาดวงจรอีเล็คทรอนิกส์ ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปตามร้านขายเครื่องอีเล็กทรอนิกส์ ถ้าถึงขั้นนี้แล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ควรจะซื้อตัวใหม่มาเปลี่ยนได้แล้ว
คีย์บอร์ด
คีย์บอร์ดเป็นปัญหาหนึ่งที่คอยกวนใจผู้ใช้อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เป็นอันมาก พิมพ์ 1 ตัว แถบมา 1 ตัว กดเบา ๆ ไม่ค่อยจะยอมรับรู้อะไร ต้องว่ากันแรง ๆ ถึงจะได้เรื่อง หรือกดแล้วเฉยก็ยังมี ปัญหาเหล่านี้อาจจะแก้ได้โดยวิธีการง่าย ๆ คีย์บอร์ดสมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้แผ่นยาง 2 แผ่นประกบกัน ตรงตำแหน่งของปุ่มบนแผ่นยางทั้งสองเคลือบด้วยคาร์บอนเพื่อใช้เป็นสื่อทางไฟฟ้า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่น ดังนั้นท่านเพียงแต่ถอดคีย์บอร์ดออกมา ค่อย ๆ แยกแผ่นยางทั้งสองออกจากกัน ใช้แปรงขนนุ่ม ๆ ค่อย ๆ ปัดฝุ่นทำความสะอาดบนแผ่นยางทั้งสอง ประกอบคีย์บอร์ดให้อยู่ในสภาพเดิม ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดมันก็ควรจะใช้งานได้ดีกว่าเดิม
ในกรณีที่เป็นคีย์บอร์ดรุ่นเก่าที่เป็นแป้นพิมพ์มีลักษณะคล้ายสวิทช์ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากรอยเชื่อมที่ตัวสวิทช์หลวม เนื่องจากสวิทช์แต่ละตัวผ่านการใช้งานมาไม่รู้กี่หมื่นกี่พันครั้ง วิธีแก้ไขให้เปิดฝาครอบด้านหลัง ใช้หัวแร้งจี้ที่ขาของแป้นพิมพ์ที่มีปัญหา ให้ตะกั่วที่ขาเกิดการหลอมละลาย และยึดขาเข้ากับแผงวงจรใหม่
เครื่องมันรวน
หลายโรงเรียนที่มีทุนทรัพย์ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องเมดอินไทยแลนด์ อาจจะมาจากพันธุ์ทิพย์ หรือแหล่งอื่น ๆ สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ของราคาถูกคุณภาพก็ต้องถูกด้วย แต่คุณภาพไม่ได้แปรผันเป็นเส้นตรงกับเครื่องที่มีแบรนด์ทั้งหลาย ดังนั้นเครื่องโลคอลแบรนด์ ก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ หลายท่านคงเคยเจอปัญหานี้คือ เครื่องของท่านมันรวนจนวิเคราะห์ไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่มีไลเซนต์ก็ไม่มีเงินซื้อ ลองหมดทุกกระบวนท่าแล้วก็ยังไม่หาย แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ ท่านมักจะลืมกัน คือ เพาเวอร์ซัพพลาย เพราะเพาเวอร์ซัพพลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุปกรณ์ทุกชิ้นในระบบ เพราะฉะนั้นถ้าส่วนนี้ทำงานผิดพลาด ไม่ว่าท่านจะแก้ไขที่ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ มันก็ไม่มีทางที่จะหายได้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านตรวจสอบหมดทุกกระบวนท่าแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผล อย่าลืมนึกถึงเพาเวอร์ซัพพลายด์
ปัญหาจากไดร์เวอร์ของการ์ด S3 บางรุ่นกับเครื่องพิมพ์ตระกูล LQ ของ Epson
ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าไดร์เวอร์ของการ์ดวีจีเอ ไปเกี่ยวกับขบวนการพิมพ์ได้อย่างไร ปัญหาที่พบคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ติดตั้งการ์ด S3 พร้อมไดร์เวอร์ กำหนดสีเป็น 256 สี ต่ออยู่กับเครื่องพิมพ์ Epson LQ 1170 ไดร์เวอร์ที่ใช้คือ ESC/P 1170 ผลจากการพิมพ์ปรากฏว่าตัวอักษรตัวสุดท้ายของบรรทัดหายไปครึ่งตัว หาทางแก้ไขอยู่นานก็ไม่สำเร็จ ลองโทรไปถามตัวแทนจำหน่าย เขาก็โอนสายไปยังช่างเทคนิคชาวไต้หวันที่พูดไทยได้ 2-3 คำ พูดอังกฤษได้เยอะ กับเราซึ่งพูดอังกฤษได้ 2-3 คำ กับภาษาไทยสันทัดมาก เลยคุยกันไม่รู้เรื่องและสู้ค่าโทรทางไกลไม่ไหว เลยลอยมามั่วดูใหม่ ปรากฏว่ายูเรกาพบแล้ว คือถ้ากำหนดสีเป็น 16 สี การพิมพ์ก็เป็นปกติดี แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ก็คือ 16 สี จะใช้กับโปรแกรมประเภทมัลติมีเดียไม่ได้ ก็เลยต้องมาลองผิด-ลองถูกกันใหม่ สรุปได้ว่าเราสามารถกำหนดสีเป็น 256 สี หรือมากกว่าได้ แต่ไดร์เวอร์ของเครื่องพิมพ์ต้องเป็น LQ รุ่นเก่า ลองติดตั้งเป็น LQ 2500 ปรากฏว่าใช้การได้ดีไม่มีปัญหา ไม่ทราบว่าท่านเคยพบปัญหานี้กันบ้างหรือเปล่า
Windows 95 กับเครื่องพิมพ์แบบ Dot Matrix
หลายท่านเพิ่งจะอพยพขึ้นมาอยู่บน Windows 95 แต่แล้วเหตุการณ์ที่ชวนให้ผิดหวังก็บังเกิด นั้นคือเวลาพิมพ์มันก็พิมพ์ออกมาได้ปกติ แต่สิ่งที่ปรากฏมันไม่ต่างไปจากขยะ เพราะมันใช้สื่อความหมายไม่ได้ ปัญหานี้เกิดจากพอร์ตของเครื่องพิมพ์ ณ ขณะนี้ในพีซีที่เราท่านใช้อยู่มีพอร์ตเครื่องพิมพ์อยู่ 3 ประเภท คือ SPP เป็นของเก่าดั้งเดิม ส่งข้อมูลได้ช้า สื่อสารได้ทางเดียว ประเภทที่สอง EPP เป็นการขยายความสามารถของแบบเก่าให้สามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น มีการสื่อสารสองทาง ประเภทที่สาม ECP พัฒนาโดยบริษัท HP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโดยรวม ที่สำคัญคือช่วยเสริมประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์ที่ผลิตโดย HP เครื่องแบบ Dot Matrix ควรกำหนดพอร์ตแบบใด คำตอบก็คือ SPP แล้วกำหนดที่ไหน งานนี้ต้องเข้าไปกำหนดที่ CMOS ท่าน ๆ ที่ชอบเรื่องฮาร์ดแวร์ หรือชอบทำอะไรด้วยตนเองคงคุ้นกับ CMOS เป็นอย่าง ลองหาดูว่าอยู่ที่ใด
สำหรับท่านที่นิยมใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงที่ต้องอาศัยพอร์ตเครื่องพิมพ์เป็นทางผ่าน อาทิเช่น Zip drive เครื่อง
เขียนแผ่นซีดี สแกนเนอร์ ท่านต้องศึกษาว่าอุปกรณ์ของท่านต้องการพอร์ตเครื่องพิมพ์แบบใดใน 3 ประเภทข้างต้น และกำหนดให้ตรงตามที่ระบุ จะทำให้ท่านได้ประสิทธิภาพของอุปกรณ์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
เขียนโดย : อาจารย์พงศ์ศัก์ดิ์ ลีละวัฒนพันธ์
วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น