ระบบเครือข่ายคืออะไร ระบบเครือข่าย หรือเน็ตเวิร์ก (Network) คืออะไร?
หากตอบอย่างง่ายๆ ก็คือว่า ระบบที่มีคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป เชื่อมต่อกันอยู่ แต่หากจะหาคำตอบ ที่เป็นวิชาการมากขึ้นไปอีก ก็จะได้คำตอบว่า จุดหรือโหนด (Node) ที่มีการเชื่อมต่อกัน ด้วยเส้นทาง การสื่อสาร อย่างใดอย่างหนึ่ง และระบบเครือข่ายใดๆ สามารถที่จะมี ระบบเครือข่ายย่อยๆ ซ้อนอยู่ในตัวมันได้
อุปกรณ์ในระบบระบบเครือข่าย
ฮับ หรือ รีพีทเตอร์ (Hub, Repeater) เป็นอุปกรณ์ที่ทวน และขยายสัญญาณ เพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์อื่น ให้ได้ระยะทางที่ยาวไกลขึ้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลก่อนและหลัง การรับ-ส่ง และไม่มีการใช้ซอฟท์แวร์ใดๆ มาเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ชนิดนี้ การติดตั้งจึงทำได้ง่าย ข้อเสียคือ ความเร็วในการส่งข้อมูล จะเฉลี่ยลดลงเท่ากันทุกเครื่อง เมื่อมีคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อมากขึ้น
สวิทช์ หรือ บริดจ์ (Switch, Bridge) เป็นอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อ เครือข่ายท้องถิ่น หรือ แลน (LAN) ประเภทเดียวกัน ใช้โปรโตคอลเดียวกัน สองวงเข้าด้วยกัน เช่น ใช้เชื่อมต่อ อีเธอร์เน็ตแลน (Ethernet LAN) หรือ โทเคนริงก์แลน (Token Ring LAN) ทั้งนี้ สวิทช์ หรือ บริดจ์ จะมีความสามารถในการเชื่อมต่อ ฮาร์ดแวร์ และตรวจสอบข้อผิดพลาด ของการส่งข้อมูลได้ด้วย ความเร็วในการส่งข้อมูล ก็มิได้ลดลง และติดตั้งง่าย
เร้าเตอร์ (Router) เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานคล้ายสวิทช์ แต่จะสามารถเชื่อมต่อระบบที่ใช้สื่อหรือสายสัญญาณต่างชนิดกันได้ เช่น เชื่อมต่ออีเธอร์เน็ตแลน (Ethernet LAN)ที่ส่งข้อมูลแบบยูทีพี (UTP:Unshield Twisted Pair) เข้ากับอีเธอร์เน็ตอีกเครือข่าย แต่ใช้สายแบบโคแอ็กเชียล(Coaxial cable) ได้ นอกจากนี้ยังช่วยเลือกหรือกำหนดเส้นทางที่จะส่งข้อมูลผ่าน และแปลงข้อมูลให้เหมาะสมกับการนำส่ง แน่นอนว่าการติดตั้งย่อมยุ่งยากมากขึ้น
เกทเวย์ (Gateway) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถสูงสุด ในการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่มีขีดจำกัด ทั้งระหว่างเครือข่ายต่างระบบ หรือแม้กระทั่งโปรโตคอล จะแตกต่างกันออกไป เกทเวย์ จะแปลงโปรโตคอล ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่ต่างชนิดกัน จัดเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพง และติดตั้งใช้งานยุ่งยาก เกตเวย์บางตัว จะรวมคุณสมบัติในการเป็น เร้าเตอร์ ด้วยในตัว หรือแม้กระทั่ง อาจรวมเอาฟังก์ชั่นการทำงาน ด้านการรักษาความปลอดภัย ที่เรียกว่า ไฟร์วอลล์ (Firewall) เข้าไว้ด้วยกัน
ตัวอย่างเทคโนโลยีกับระบบเครือข่าย
โฮมเน็ตเวิร์ก โทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต การเรียนการสอนทางไกล: Tele-Education ฯลฯ
--------------------------------------------------------------------------------
โฮมเน็ตเวิร์ก โฮมเน็ตเวิร์ก เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้น ภายในบ้านไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ หรือ เครื่องทำน้ำอุ่น ให้เป็นระบบเครือข่าย
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมถึงมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น มาเกี่ยวด้วย เพราะดูแล้วมันไม่น่าจะนำมาต่อ เป็นเครือข่ายเข้ากับคอมพิวเตอร์ได้เลย
แนวคิดโฮมเน็ตเวิร์ก คือ การทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นภายในบ้าน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ และสามารถรับคำสั่งจากระยะไกลได้ โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลาง พูดง่ายๆก็คือ ความพยายามที่จะทำให้เครื่องใช้ทุกอย่างในบ้านมีความฉลาด ซึ่งจะช่วยและอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้มากที่สุด
ขอยกตัวอย่างเพื่อช่วยในการนึกภาพ ของโฮมเน็ตเวิร์กได้ชัดขึ้น เช่น ก้าวแรกที่คุณลุกขึ้นจากเตียงนอน ทันทีเจ้าวิทยุคู่ใจ ก็เริ่มบรรเลงเพลงโปรด ระหว่างที่คุณกำลังมีความสุข อยู่กับการแช่น้ำอุ่นๆ จากเครื่องทำน้ำอุ่น ในอ่างอาบน้ำ ที่เตรียมไว้พร้อมสรรพ ตู้เย็นก็จัดการส่งขนมปัง ไข่ และไส้กรอกไปยังเตาไมโครเวฟ เพื่อปรุงไว้พร้อมเสริฟในครัว แค่นี้ก็ทำให้การเริ่มวันใหม่ของคุณ เป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ต้องรีบเร่ง ฟังดูอาจเกินจริงไปบ้าง แต่ขอบอกว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นแนวคิดของโฮมเน็ตเวิร์กนั่นเอง
หากต้องทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างที่อยู่ในบ้านเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน จำเป็นต้องมีมาตรฐานมารองรับเพื่อให้ผู้ผลิตต่างๆ ผลิตสินค้าของตนให้สามารถเชื่อมต่อกับสินค้ายี่ห้ออื่นๆ ในตลาดได้ ซึ่งมาตรฐานที่ใช้สำหรับโฮมเน็ตเวิร์กที่มีอยู่ในปัจจุบันมีดังนี้
มาตรฐานเครือข่ายไร้สาย IEEE 802.11
มาตรฐาน Bluetooth
มาตรฐาน SWAP 1.0
มาตรฐาน X10
มาตรฐาน IEEE1394 หรือ FireWire
มาตรฐาน HomePNA (Home Phoneline Networking Association
มาตรฐาน SSEQ
จากมาตรฐานของโฮมเน็ตเวิร์กข้างต้น สามารถแบ่งประเภทของโฮมเน็ตเวิร์ก ได้สองประเภทใหญ่ๆ คือ แบบมีสาย(Wired Homenetwork) และแบบไร้สาย (Wireless Homenetwork)
--------------------------------------------------------------------------------
โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทุกวันนี้มีบริการไฮเทคเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้ผู้คนได้เลือกใช้ตามความต้องการ และหนึ่งในนั้นก็คือ บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีการเรียกชื่อที่ต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็น Internet Telephone, Net Phone, Voice over Internet Protocal, Voice over IP, VoIP หรือ Web Phone ซึ่งล้วนแต่หมายถึง บริการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในการสื่อสารพูดคุย แทนเครื่องโทรศัพท์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
PC-to-PC วิธีนี้ผู้ใช้ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งต้นทาง-ปลายทาง และต้องลงโปรแกรมเดียวกัน หรือโปรแกรมที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเป็นวิธีสื่อสาร ที่ไม่ต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์แต่อย่างใด
PC-to-Phone เป็นรูปแบบที่ใช้ได้ กับผู้ใช้ต้นทางที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมโทรศัพท์ โดยผู้รับปลายทางใช้เครื่องโทรศัพท์ธรรมดา วิธีนี้จำเป็นต้องมีผู้ที่ให้บริการ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เข้ากับเครือข่ายโทรศัพท์ท้องถิ่น (Internet Telephone Service Provider หรือ ITSP) โดยผู้ใช้ต้องเสียค่าบริการ ตามเวลาที่ใช้จริง
Phone-to-PC วิธีนี้ใช้หลักการเดียวกับแบบPC-to-Phone แต่เปลี่ยนเป็นต้นทางเป็นโทรศัพท์ธรรมดา ในขณะที่ปลายทางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมโทรศัพท์แทน ซึ่งผู้ใช้ต้องเสียค่าบริการ ตามเวลาที่ใช้จริงเช่นกัน
Phone-to-Phone เป็นวิธีที่ทั้งต้นทาง และปลายทางต้องมี ITSP ซึ่งทำให้มีค่าบริการสูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่ก็เป็นวิธีที่ง่าย และคุ้นเคยกับการใช้งานที่สุด อุปกรณ์เสริมที่จำเป็น สำหรับบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ใช้ต้องซื้อหาเพิ่มเติม จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรามีอยู่แล้ว ก็คือ ซาว์ดการ์ด ลำโพง ไมโครโฟน หูฟัง หรือหูฟังพร้อมไมโครโฟน เอียร์คลิป แฮนด์เซท กล้องวิดีโอ และอุปกรณ์สลับสายระหว่างลำโพงกับเฮดเซท
สิ่งที่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้คน หันมาใช้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต เห็นจะได้แก่ อัตราค่าบริการที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการโทรทางไกล ผ่านโทรศัพท์ธรรมดา โดยผู้ใช้จะเสียเฉพาะค่าโทรศัพท์ ในอัตราแบบ โทรภายในพื้นที่เท่านั้น เพราะการโทรทางไกล จะเรียกผ่าน ทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งช่วยผู้ใช้ประหยัดเงิน ในกระเป๋าได้มากทีเดียว
--------------------------------------------------------------------------------
การเรียนการสอนทางไกล ระบบการศึกษานอกโรงเรียน เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนา การกระจายเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการศึกษา ด้วยรูปแบบการเรียนการสอน และสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ กำลังได้รับการยอมรับมากที่สุด จากสถาบันการศึกษาคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต ที่ในรูปของ Tele-Education หรือการเรียนการสอนทางไกล
ความรวดเร็วของในการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ช่วยลดข้อจำกัดในการศึกษานอกสถานที่ เพราะไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใด ก็สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ต สามารถทำให้เกิดการโต้ตอบ ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เสมือนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รูปแบบของการเรียนการสอนทางไกล ที่ได้รับความนิยม ทำได้ทั้งการสร้างเครือข่ายการเรียนการสอน โดยมีศูนย์อยู่ในส่วนกลาง เพื่อผลิตเนื้อหาส่งผ่านอุปกรณ์ส่งสัญญาณ กระจายผ่านเครือข่ายเคเบิ้ลนำแสง หรือใช้ดาวเทียมยิงสัญญาณไปยังเครื่องรับทางไกลก็ได้ นอกจากนี้สามารถนำเอาห้องเรียนไปไว้บนอินเทอร์เน็ต โดยมีอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเรียน ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการสอนทางไกล ที่ทำให้เว็บเพจกลายเป็นแหล่งความรู้ การเรียนทางไกล ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาวิชาที่มีความสนใจ และต้องการหาความรู้เพิ่มเติม สามารถทบทวนบทเรียน หรือเรียนซ้ำ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น